Pages

Tuesday, July 21, 2020

วันเฉลิม: พี่สาวผู้ยอมทิ้งทุกอย่างเพื่อตามหาน้องชายวอน "ถ้าเขาเสียชีวิตไปแล้ว ก็ขอให้ได้พบศพ" - บีบีซีไทย

gentongempal.blogspot.com
  • กุลธิดา สามะพุทธิ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์วัย 48 ปี วางแผนไว้ว่าเมื่อโควิด-19 คลี่คลาย เธอจะท่องเที่ยวไปในหลายจังหวัด จะเดินสายนัดเพื่อนกินกาแฟ แต่แผนการทั้งหมดนี้ก็พังครืนลงในวันพฤหัสบดีที่ 4 มิ.ย.--วันที่น้องชายที่เธอสนิทมากที่สุดหายตัวไปพร้อมกับคำพูดสุดท้าย "โอ๊ย...หายใจไม่ออก" ซึ่งยังติดหูมาจนถึงวันนี้

การหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์หรือ "ต้าร์" ไม่เพียงทำให้สิตานันต้องยกเลิกโปรแกรมท่องเที่ยวตามลำพังที่เธอโปรดปราน แต่เหตุการณ์นี้ได้เปลี่ยนเธอไปทั้งชีวิต

"ขอโทษนะ บางวันยังโมโหน้องอยู่เลย ยังเคยพูดขึ้นมาลอย ๆ ถึงต้าร์ว่า เฮ้ย...แกทำอะไรกับชั้น แกกลับมาเหอะ ชั้นไม่อยากใช้ชีวิตแบบนี้ พี่อยากกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมที่ทำงานเสร็จก็ไปเที่ยว ไม่ต้องคิดอะไรมาก" สิตานันบอกกับบีบีซีไทย

สี่สิบกว่าวันแล้วที่วันเฉลิมหายตัวไปจากคอนโดมิเนียมที่พักในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา สิตานันบอกว่าไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ในทางการสอบสวน หลายหน่วยงานที่เธอไปยื่นหนังสือขอให้ช่วยติดตามเรื่องก็ยังไม่ตอบกลับ ส่วนที่ตอบมาแล้วก็แทบไม่มีข้อมูลอะไรที่เป็นประโยชน์

"ลึก ๆ ก็รู้ว่าต้าร์ไม่อยู่แล้ว เราถึงอยากเห็นศพเขา อยากมีอะไรยืนยันว่าเขาเสียชีวิตไปแล้ว เราจะได้ทำใจแล้วเดินต่อได้" สิตานันกล่าว

เธอสะอื้นและกลั้นน้ำตาอยู่หลายครั้งระหว่างให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยเมื่อวันที่ 14 ก.ค. แต่เมื่อการสนทนาเดินทางมาถึงช่วงท้าย น้ำเสียงของเธอก็เริ่มหนักแน่น แววตาเศร้ากลับฉายแววมุ่งมั่น

"เมื่อก่อนไม่เคยรู้จักศูนย์ทนายสิทธิมนุษยชน ไม่เคยรู้จักฮิวแมนไรท์วอทช์ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ไอลอว์ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ฯลฯ ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยเรียกร้องสิทธิและความถูกต้อง ตอนนี้เราตัดสินใจแล้วว่าจะเดินทางสายเดียวกับองค์กรเหล่านี้เพื่อเรียกร้องสิทธิให้บุคคลต่าง ๆ ที่สูญหาย...ไม่ใช่เพื่อวันเฉลิมคนเดียว แต่เพื่อคนอื่น ๆ ด้วย เพราะในอนาคตไม่อยากเห็นเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับใครอีก"

โปรดเปิดการใช้งาน JavaScript หรือบราวเซอร์ต่างออกไป เพื่ดูเนื้อหานี้

สิตานันบอกว่าการหายตัวไปของน้องชายทำให้เธอ "เปลี่ยนไปมาก" และวันเฉลิมเองก็คงคิดไม่ถึงว่าเขาจะทำให้พี่สาวซึ่งไม่เคยสนใจเรื่องการเมืองหรือสิทธิมนุษยชนเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้

เธอเปิดเผยกับบีบีซีไทยถึงชีวิตที่พลิกผันในช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน

บรรยากาศในครอบครัวเปลี่ยนไป

สิตานันเป็นพี่สาวคนโตในบรรดาพี่น้อง 4 คน แม้จะเป็นพี่สาวต่างมารดากับน้อง ๆ อีก 3 คน แต่เนื่องจากเธอมีหน้าที่เลี้ยงดูน้อง ๆ มาตั้งแต่เด็ก พี่น้องจึงรักใคร่กลมเกลียวกันมาก โดยเฉพาะเธอกับวันเฉลิมซึ่งเป็นน้องคนรองที่สนิทสนมกันเป็นพิเศษ

เมื่อโตขึ้น ต่างคนต่างแยกย้ายกันไปทำงานตามความถนัด สิตานันเรียนด้านการตลาดและเข้าทำงานบริษัทเอกชนด้านการประกันภัยก่อนจะออกมาทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ของตัวเอง ส่วนวันเฉลิมทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนและเคยเป็นคณะทำงานของนักการเมืองคนหนึ่ง

สิตานันเล่าว่า หลังรัฐประหารปี 2557 วันเฉลิมโทรศัพท์มาบอกแม่ว่าเขาจำเป็นต้องเดินทางออกนอกประเทศ เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติเรียกไปรายงานตัว แต่เขาปฏิเสธ นั่นเป็นครั้งแรกที่เธอรู้ว่าน้องชายเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

หลังจากออกนอกประเทศไป วันเฉลิมไม่ได้ติดต่อทางบ้านอีกเลย จนกระทั่งผ่านไป 2 ปี เขาติดต่อมาหาเธอ พี่สาวกับน้องชายจึงได้กลับมาคุยกันอย่างใกล้ชิดอีกครั้ง

"เราคุยกันทุกวัน วันละหลาย ๆ ครั้ง ด้วยความที่เขาอยู่ต่างประเทศ เขาคงเหงา เจออะไร ไปทำอะไรมาก็มาเล่าให้เราฟังเสมอ"

วันเฉลิมเล่าให้สิตานันหรือที่เขาเรียกว่า "พี่เจน" ฟังถึงธุรกิจหลายอย่างที่ทำและมีแผนจะทำในกัมพูชา ทั้งธุรกิจการเกษตร ร้านอาหารไทยที่หุ้นกับเพื่อน ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตรา โรงพยาบาล ไปจนถึงการทดลองปลูกกัญชา

เขาเคยปรึกษาเธอเรื่องขอลี้ภัยไปฝรั่งเศสตามคำชวนของผู้ลี้ภัยทางการเมืองคนอื่น ๆ แต่สองพี่น้องคุยกันแล้วเห็นว่าหากอยู่ในกัมพูชา วันเฉลิมยังมีช่องทางทำธุรกิจ

"ต้าร์บอกว่าเขาไม่อยากไป (ยุโรป) เพราะกลัวว่าจะไม่มีอะไรทำ อยู่ที่กัมพูชาเขามีเพื่อนเป็นนักธุรกิจ เริ่มรู้จักผู้ใหญ่หลายคน ก็เลยมองเห็นช่องทางที่จะทำมาหากิน ตอนนั้นเราก็เลยแนะนำเขาว่าเลิกยุ่งกับการเมืองแล้วหันมาทำธุรกิจจริงจังดีมั้ย น้องก็บอกว่าได้ ตอนนั้นเราก็สบายใจแล้ว"

ปลายปี 2561 สิตานันเดินทางไปติดต่อธุรกิจที่ประเทศแอฟริกาใต้ วันเฉลิมเดินทางจากกัมพูชาไปเจอเธอที่นั่น ซึ่งเป็นการพบหน้ากันครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นทั้งสองก็ยังติดต่อกันใกล้ชิดผ่านแอปพลิเคชันไลน์และเฟซบุ๊กจนกระทั่งวันที่เขาถูกอุ้มหายไปช่วงเย็นวันที่ 4 มิ.ย. ขณะที่ยังคุยโทรศัพท์กับเธอ

ร้านขายส้มตำใกล้กับแม่โขง การเดนส์

สิตานันบอกว่าการหายตัวไปของต้าร์ทำให้ทุกคนในครอบครัวเป็นทุกข์อย่างแสนสาหัส โดยเฉพาะแม่ซึ่งขณะนี้อายุ 63 ปี ส่วนพ่อเสียชีวิตไปแล้ว

"น้องชายคนถัดจากต้าร์เป็นพนักงานธนาคาร ส่วนน้องสาวคนสุดท้องเพิ่งเรียนจบแพทย์ ทั้งสองคนอยากออกมาช่วยเรียกร้อง แต่เขายังต้องทำงาน แม่เองก็บอกว่าไม่อยากเสียใครไปอีกแล้ว เพราะแม่เสียลูกไปแล้วหนึ่งคน เราก็เลยรับอาสาว่าจะขอออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้คนเดียว เราจะตามหาและเรียกร้องสิทธิความเป็นมนุษย์ของน้อง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราจะขอรับผิดชอบคนเดียว"

จากที่เคยมีกัน 4 คนพี่น้อง เมื่อวันเฉลิมหายไปและสิตานันต้องออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องตามหาน้องชาย ครอบครัว "สัตย์ศักดิ์สิทธิ์" จึงเต็มไปด้วยความเงียบเหงา ความเศร้าและหดหู่

"มันทุกข์ทรมาน...ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับครอบครัวใคร ก็ไม่รู้หรอกว่ามันทุกข์ทรมานใจมากแค่ไหน พูดถึงเรื่องนี้กันเมื่อไหร่ก็ร้องไห้เมื่อนั้น ถึงแม่และน้อง ๆ จะเข้มแข็ง แต่มันเป็นแผลลึกในจิตใจ ที่บอกไม่ได้เลยว่ามันจะหายไปเมื่อไหร่"

ชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป

สิตานันเป็นบอกว่าหลังจากวันเฉลิมถูกอุ้มหาย เธอไม่มีจิตใจที่จะทำงานต่อ

"สี่สิบกว่าวันที่ผ่านมาไม่ได้ทำงานเลย ทิ้งงานทั้งหมด ออกมาตามหาน้อง ออกมาเรียกร้องสิทธิให้น้อง เพราะคิดว่านี่เป็นสิ่งที่เราควรจะทำ ถ้าเราไม่ทำก็คงไม่มีใครทำ หลังจากนี้ก็ไม่รู้ว่าชีวิตตัวเองจะเป็นยังไง" สิตานันบอกพร้อมกับเปิดเผยว่าขณะนี้เธอต้องใช้เงินเก็บซึ่งไม่ได้มีมากมายและไม่รู้ว่าจะหมดเมื่อไหร่

จากที่เคยเดินทางไปไหนมาไหนคนเดียวอย่างอิสระ ทุกวันนี้เธอต้องระมัดระวังตัวมากขึ้นเพราะหลายคนเตือนว่าอาจจะตกอยู่ในอันตราย

"แต่โชคดีและน่าแปลกใจที่ตั้งแต่เกิดเรื่องมา ครอบครัวเราไม่เคยโดนคุกคามเลย"

สิตานันบอกว่านอกจากกลุ่มเพื่อนที่สนิทแล้ว เธอก็ไม่ค่อยจะออกไปพบใครอีก และชอบเก็บตัวอยู่คนเดียวที่บ้าน แต่ตอนนี้เธอต้องเดินทางไปพบผู้คนมากมายจากหลายองค์กร ยังไม่นับที่ต้องขึ้นเวทีพูดในที่สาธารณะ และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนในชีวิต

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

ความสนใจเปลี่ยนไป

"ไม่เคยติดตามข่าวสารหรือเรื่องการเมืองเลย แม้แต่ทีวีก็ไม่มี เพราะชอบดูแต่หนังหรือคลิปในยูทิวบ์แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับต้าร์ทำให้ต้องมาสนใจข่าวสารบ้านเมือง เรื่องการเรียกร้องสิทธิ" สิตานันเล่าถึงไลฟ์สไตล์ของเธอก่อนหน้าที่น้องชายจะกลายเป็นเหยื่อของการอุ้มหาย

"เมื่อก่อนไม่รู้จักทวิตเตอร์ พอต้าร์หายไป เช้าวันแรกตื่นมาโหลดทวิตเตอร์ลงมือถือก่อนเลย ทุกวันนี้สิ่งแรกที่ทำหลังตื่นนอนคือเปิดทวิตเตอร์ดูว่ามีข่าวเกี่ยวกับการอุ้มหายวันเฉลิมมั้ย รวมถึงข่าวคราวของคนที่ออกมาเรียกร้องเรื่องต้าร์ เพราะกลัวว่าจะมีคนอื่น ๆ ที่โดนเหมือนต้าร์ เราเป็นห่วงบุคคลเหล่านี้มาก"

จากที่เคยใช้เวลาว่างหาข้อมูลเรื่องการเดินทางท่องเที่ยว หาร้านอาหารไปรับประทานกับเพื่อน ๆ ทุกวันนี้สิตานันใช้เวลาไปกับการคิดและวางแผนว่าเธอจะไปเรียกร้องที่หน่วยงานไหนดี จะไปฟังเสวนาที่ไหนบ้างเพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านกฎหมายและสิทธิของผู้ที่ถูกอุ้มหาย และจะสนับสนุนการทำงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร

เธอเดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่หน่วยงานต่าง ๆ มานับไม่ถ้วน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยได้ยินชื่อหน่วยงานเหล่านี้ด้วยซ้ำ

"กรมการกงสุล, กระทรวงการต่างประเทศ, คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนกรรมาธิการของรัฐสภา, ดีเอสไอ, องค์การสหประชาชาติ, สำนักงานอัยการสูงสุด" สิตานันยกตัวอย่าง

สิ่งที่สิตานันสนใจตอนนี้เป็นเรื่องที่ไม่เคยอยู่ในความสนใจของเธอเลย เช่น การผลักดันร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ผู้ลี้ภัยทางการเมือง สิทธิมนุษยชนและการเรียกร้องประชาธิปไตย

แถลงข่าวที่รัฐสภา

"ตอนนี้เรารู้เรื่องกฎหมายมากขึ้น และอยากผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างที่เกิดกับต้าร์และผู้ลี้ภัยคนอื่น หลังรัฐประหาร 2557 มีคนถูกอุ้มหายอย่างน้อย 9 คน และถ้ารวมทั้งหมดในอดีตก็เกือบ 90 คน ซึ่งน่าตกใจมากที่เยอะขนาดนี้"

กลุ่มเพื่อนเปลี่ยนไป

ก่อนหน้านี้ สิตานันมีเพื่อนอยู่หลายวงการ ทั้งนักธุรกิจและแวดวงทหาร แต่หลังจากที่เธอออกมา "เปิดหน้าชน" ร้องเรียนเรื่องการหายตัวไปของวันเฉลิม เพื่อน ๆ ที่เคยคบหากันก็หายหน้าไปหมด

"เราเข้าใจว่าทุกคนกลัว ไม่กล้าเข้ามายุ่งกับเรา คงกลัวว่าถ้ามาคบกับเราแล้วอาจจะเกิดเรื่องอะไรกับเขาก็ได้"

ขณะที่เพื่อนเก่าหายไป สิตานันกลับได้ "เพื่อนใหม่" อย่างสมาชิกในครอบครัวผู้ถูกอุ้มหายที่นับเป็นเพื่อนร่วมชะตากรรม นักต่อสู้และทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่ยื่นมาช่วยเหลือ

"เจอคุณอังคณา (นีละไพจิต) แม่กัญญา (แม่ของนายสยาม ธีรวุฒิ) และแม่น้อย (ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์) เรารู้เลยว่าตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเขาแล้ว ไม่ต้องพูดอะไรกันมาก พอเจอกันได้แต่กอดกันร้องไห้ ทุกวันนี้โทรศัพท์คุยกับแม่กัญญาทุกวัน แม่บอกว่าเจนจะทำอะไร เจนจะให้แม่ทำอะไร เราจะทำด้วยกันเพื่อเรียกร้องสิทธิความเป็นคนของบุคคลที่สูญหาย" เธอพูดสลับสะอื้น

เธอเล่าให้บีบีซีไทยฟังถึงวันแรกที่ได้พบกับสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย

"วันแรก ๆ ที่ต้าร์หาย เรานั่งร้องไห้อยู่ที่งานหนึ่ง ก็มีผู้ชายคนหนึ่งมาแนะนำตัวว่าเขาชื่อสุณัย ผาสุข เราก็ไม่รู้หรอกว่าสุณัยคือใคร พอกลับไปค้นดูถึงรู้ว่าเขาเป็นนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำอะไรมาเยอะมาก"

อีกหลายชื่อที่เธอไม่เคยได้ยินหรือรู้จักมาก่อนเลยก่อนที่วันเฉลิมจะหายตัวไป อย่างเช่น รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ทีมทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อาจารย์ นักวิชาการที่ติดต่อมาให้กำลังใจ รวมถึงนักเรียนนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ เธอนับเป็นเพื่อนด้วยทั้งหมด

ป้ายตามหาคนหาย

เป้าหมายในชีวิตเปลี่ยนไป

ชีวิตที่มีเป้าหมายระยะสั้น ๆ คือ ทำงาน เก็บเงิน ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของสิตานันได้สิ้นสุดลงแล้ว

เป้าหมายใหม่: สานต่อเจตนารมณ์ของวันเฉลิม

"ถ้าเรากลัว สิ่งที่ต้าร์ยอมเสียสละอนาคตและเสี่ยงชีวิตเรียกร้องมาทั้งหมดมันจะสูญเปล่า เราก็เลยออกมาสานต่อเจตนารมณ์ของน้อง...สิ่งที่ต้าร์ทำมาเป็นแรงผลักดันให้เราสู้ เพราะคิดว่าสิ่งที่ต้าร์ทำมันดี" สิตานันบอก

เธอรู้ดีว่าเส้นทางนี้ยาวไกล เฉพาะคดีที่เธอได้จ้างทนายชาวกัมพูชาไปยื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อพนักงานอัยการประจำศาลแขวงพนมเปญให้สอบสวนและดำเนินคดีกับกลุ่มคนติดอาวุธที่ลักพาตัววันเฉลิมไป ก็อาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีแล้ว

"อย่าเรียกว่าเป็นการต่อสู้เลย เพราะเราไม่รู้ว่าต่อสู้อยู่กับอะไร แต่คิดว่าจะทำให้ดีที่สุดกับการตามหาน้อง"

line

ความคืบหน้าการร้องเรียน-ร้องทุกข์กรณีวันเฉลิม

  • 3 ก.ค. กระทรวงมหาดไทยของกัมพูชา ซึ่งกำกับดูแลคณะกรรมการตำรวจรับหนังสือร้องเรียนของครอบครัว
  • 8 ก.ค. ทนายความกัมพูชาที่ครอบครัวจ้างได้ดำเนินการร้องทุกข์แจ้งว่า พนักงานอัยการประจำศาลแขวงพนมเปญ ศาลชั้นต้นรับหนังสือร้องทุกข์ให้มีการสอบสวนและดำเนินคดีกับกลุ่มคนติดอาวุธที่ลักพาตัวนายวันเฉลิมตามกระบวนการยุติธรรมของอาณาจักรกัมพูชาไว้แล้ว
  • 8 ก.ค. กระทรวงยุติธรรมของกัมพูชารับหนังสือร้องเรียนของครอบครัว
  • 8 ก.ค. โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่ กองบริหารคดีพิเศษพิจารณาหนังสือของ น.ส.สิตานันที่ร้องขอให้สอบสวนกรณีวันเฉลิมถูกอุ้มหายแล้วเห็นว่าเนื่องจากวันเฉลิมสูญหายในต่างประเทศ ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 วรรคหนึ่ง กำหนดให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ อธิบดีดีเอสไอจึงได้มีคำสั่งให้ส่งเรื่องนี้ไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
  • 15 ก.ค. คณะกรรมการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บังคับบุคคลสูญหาย (CED) องค์การสหประชาชาติส่งหนังสือถึง น.ส.สิตานันว่า ยูเอ็นได้รับแจ้งจากรัฐบาลกัมพูชาเกี่ยวกับเรื่องนี้ใน 2 ประเด็น คือ

1) ตรวจสอบประวัติการเดินทางเข้า-ออกกัมพูชาของนายวันเฉลิมในกัมพูชา ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งในระหว่างปี 2557-2558 โดยนายวันเฉลิมได้เดินทางเข้ากัมพูชาครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2558 และได้รับการต่ออายุวีซ่าเพื่อพำนักในกัมพูชาชั่วคราวจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2560 หลังจากนั้น กัมพูชาไม่เคยได้รับคำขอต่ออายุวีซ่าจากวันเฉลิมอีกเลย

2) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกัมพูชาไม่มีข้อมูลหรือเบาะแสการหายตัวไปของนายวันเฉลิม นอกเหนือไปจากที่ปรากฎในรายงานข่าว ทั้งนี้ ในปัจจุบัน กัมพูชาระบุว่าอยู่ในระหว่างการสืบสวนกรณีดังกล่าว

Let's block ads! (Why?)



"ถ้า" - Google News
July 20, 2020 at 05:04AM
https://ift.tt/3eLHgyP

วันเฉลิม: พี่สาวผู้ยอมทิ้งทุกอย่างเพื่อตามหาน้องชายวอน "ถ้าเขาเสียชีวิตไปแล้ว ก็ขอให้ได้พบศพ" - บีบีซีไทย
"ถ้า" - Google News
https://ift.tt/2BjqBEF
Home To Blog

No comments:

Post a Comment