7 มิถุนายน 2563 | โดย ปิ่นอนงค์ ปานชื่น
644
ย้อนรำลึกถึงแนวคิดในการทำงานศิลปะของ วิโชค มุกดามณี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สื่อประสม) ปีพ.ศ.2555 ผู้จากไปด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ในเช้าวันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน 2563 ณ โรงพยาบาลศิริราช สิริรวมอายุ 67 ปี
ชิ้นส่วนเล็กใหญ่ของสิ่งที่เคยประกอบร่างเป็นจักรยาน โทรศัพท์มือถือรุ่นเก่าเกินเก็บ ตอไม้ถูกทิ้ง ไม้หมอนรถไฟที่ไม่มีใครแยแส รวมไปถึงเศษเหล็กเศษไม้ที่ไม่มีใครต้องการ เหล่านี้คือสิ่งที่ อาจารย์วิโชค เก็บมาสร้างชีวิตใหม่ จากสิ่งของเหลือทิ้งที่วางตรงไหนก็ไม่งาม กลายเป็นผลงานศิลปะชิ้นใหม่ที่มีแง่มุมของความงามทางด้านทัศนศิลป์ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความรู้สึกสะเทือนอารมณ์
ในนิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ ( 3 – 30 มิถุนายน 2559) เราได้เห็นดอกไม้ ต้นไม้ขนาดสูงท่วมศีรษะนับสิบต้น ยืนเรียงราย อยู่ท่ามกลางผลงานศิลปะสื่อผสมที่ล้วนแล้วแต่นำของเหลือทิ้งเหลือใช้มาเป็นวัสดุในการสร้างสรรค์ผลงาน ยิ่งเข้าไปมองใกล้ๆคุณจะยิ่งพบว่าหลายชิ้นเป็นของคุ้นเคยที่คุณเลือกที่จะทิ้งขว้างมากกว่าจะเก็บมาใช้ใหม่
“ผมเก็บของเก่าที่กำลังกลายเป็นขยะ นำมาทำเป็นรูปทรงของต้นไม้ที่กำลังเติบโต ไม่ได้ต้องการบอกว่าไม่ดีนะแต่มันกำลังเคลื่อนไหวเป็นสัญญาณให้รู้ว่ากำลังเกิดรูปแบบใหม่ขึ้นในสังคม รูปร่างของสิ่งแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนโฉม ซึ่งเราต้องอยู่กับมัน อาจจะหนีออกหรือไม่ออกก็ได้
นอกจากต้นไม้ที่เติบโตขึ้นมาจากตอไม้ที่ถูกขุดทิ้งไว้ ผมก็นำมาทำโครงสร้างใหม่เป็นรูปทรงของดอกไม้ที่กำลังเติบโต เปรียบเหมือนเป็นสัญญาณของชีวิต แต่ประกอบด้วยวัตถุที่เป็นขยะ ล้อจักรยานมีแทบทุกแบบ
จัดงานให้เกิดแสงเงา วางเรียงกันซ้ำๆหลายชิ้น เพื่อตอกย้ำความรู้สึก เมื่อมองไปในธรรมชาติเราจะเห็นสิ่งแปลกปลอม ถามว่าไม่สวยเหรอ แต่เรานั่นแหละเป็นคนทำ”
อ.วิโชค กล่าวถึงผลงานประติมากรรมที่นำมาจัดแสดงเต็มผนังห้องนิทรรศการถึง 2 ห้อง โดยย้ำว่าที่นำมาจัดแสดงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานที่ทำไว้เท่านั้น
นอกเหนือจากงานชุบชีวิตใหม่ให้เศษวัสดุแล้ว ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นความโดดเด่นในการนำวัสดุมาผสมผสานกับงานจิตรกรรมที่อัดแน่นไปด้วยพลังและความเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของศิลปิน
ดังจะเห็นได้จาก เรื่องราวจากเอดินเบอระ ผลงานสื่อผสมที่มีทั้งสีอะคริลิก ดิน ไม้ และเศษวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับ เศษโลหะ รวมไปถึงชิ้นส่วนของเรือ นำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะ
“ ช่วงปี 2554 - 55 เดินทางไปต่างประเทศบ่อยทำให้เรามีข้อมูลในการทำงานค่อนข้างเยอะ ไปเมืองเอดินเบอระ ที่สก็อตแลนด์ โบราณสถานประกอบกับประวัติศาสตร์ทำให้อยากจะเขียนถึงการต่อสู้ ชีวิตที่ต้องดิ้นรน
โดยนิสัยแล้วผมเป็นคนชอบใช้วัสดุ เลยเป็นการผสมระหว่างเพ้นท์ติ้งกับวัสดุ ดรออิ้งขึ้นมาก่อน ใส่วัสดุที่เราสนใจเข้าไปในงาน มีทั้งเครื่องประดับหิน เครื่องรางของขลังกระจาย อาวุธ ยุทโธปกรณ์ มีความเคลื่อนไหว นี่คือ ไอเดีย ฟิลลิ่งกำลังสู้กัน ท้องฟ้ามีเมฆหมอกควันไฟ มีการเคลื่อนที่ รสชาติเป็นอย่างนั้น”
ศิลปินอธิบายถึงที่มาของผลงานขนาด 270 x 400 ซม.
" ชุดนี้ทำเป็นงานต่อเนื่อง ภาพเริ่มต้นจากระเบิดปรมาณูที่สร้างความหายนะให้กับผู้คนและเมืองฮิโรชิมา ผู้คนต้องดื่มกินน้ำที่เต็มไปด้วยสารพิษ เมื่อดื่มไปแล้วรู้สึกร้อนไปทั้งตัว ถัดมาเป็นภาพของเมืองและผู้คนที่เสียหาย ผมวาดลายเส้นให้มือเหมือนกระดูก เขียนให้เหมือนเป็นจิตวิญญาณที่เคลื่อนไหว เป็นการสำแดงอารมณ์ ที่ทำให้คนดูสัมผัสถึงอารมณ์ที่เราอยากสื่อออกมา”
สำหรับนิทรรศการในครั้งนี้ อ.วิโชค กล่าวถึง “สาร”ที่ต้องการ “สื่อ”ถึงผู้ชมว่า
“ในแง่ของตัวศิลปิน เราเชื่อมั่นในสิ่งที่เราค้นเราพบ ผลงานของเราน่าจะเป็นประเด็นให้เขาได้เห็น เช่น ความงดงาม เราอาจให้สติ ความคิด ชวนให้มองโลกในอีกมุมหนึ่งบ้าง ไม่ใช่มองต่อต้าน หรือว่ายอมรับ แต่ให้มองในหลายแง่หลายมุม มีทั้งบวก ลบ ทั้งสองอย่างอยู่ด้วยกันได้ ของที่ไม่งาม ถ้าอยู่ถูกที่มันก็งามได้ อย่าเชื่อเหมือนกันว่าน้ำหอมนี้ดี เสื้อนี้ดี บางทีเสื้อที่ขาดก็สวยได้
อันนี้เป็นมุมมองที่อยากนำเสนอให้เห็นถึงสิ่งที่ศิลปินคิด อีกอันหนึ่ง คืองานศิลปะร่วมสมัย ไม่ได้มีรูปแบบของความเหมือน ไม่จำเป็นต้องเป็นความละเมียดละไม หรือจำเป็นต้องเหมือนจริงอย่างเดียว มันเป็นเชิงความคิดได้”
บางสิ่งที่เรามองว่าไม่งาม เมื่อนำมาวางให้ถูกที่ถูกทาง เราจะมองเห็นความงามในอีกแง่มุมหนึ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อนก็ได้ คือ สิ่งที่ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี ฝากเอาไว้
ประวัติและผลงาน
ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สื่อประสม) เกิดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2496
- สำเร็จการศึกษาศิลปบัณฑิต เกียรตินิยม อันดับ 2 (จิตรกรรม) และศิลปะมหาบัณฑิต (จิตรกรรม) จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- ได้รับทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อศึกษาด้านศิลปะร่วมสมัยและศิลปะการออกแบบ ณ มหาวิทยาลัย Tokyo Gakugei กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
แนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในยุคแรกเริ่มต้นจากงานจิตรกรรม นำเสนอรูปทรงของมนุษย์มาเป็นสื่อในการบอกเล่าเรื่องราวของมนุษย์ที่ผูกพันกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมในยุคที่เต็มไปด้วยความเจริญทางวัตถุ
ต่อมามีการพัฒนาผลงานสร้างสรรค์ โดยนำวัสดุต่างๆ เช่น ไม้ เหล็ก ทองแดง ก่อให้เกิดเป็นผลงานศิลปะในรูปแบบสื่อประสม และการทำงานในรูปแบบศิลปะแนวจัดวางที่นำเสนอศิลปะเชิงความคิด โดยมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ โลกอนาคต และคติความเชื่อในพุทธศาสนา
กล่าวได้ว่าศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี เป็นศิลปินที่มีบทบาทสำคัญในการบุกเบิกศิลปะแนวสื่อประสมของประเทศไทย
"ถ้า" - Google News
June 07, 2020 at 05:26AM
https://ift.tt/3h28PWS
'ของไม่งาม ถ้าอยู่ถูกที่ก็งามได้' คมความคิดจากศิลปินแห่งชาติ วิโชค มุกดามณี - กรุงเทพธุรกิจ
"ถ้า" - Google News
https://ift.tt/2BjqBEF
Home To Blog
No comments:
Post a Comment