จากปรากฏการณ์ “หอยนางรมแปซิฟิก” ที่บุกชายหาดในนอร์เวย์จนต้องเปิดรับอาสาสมัครกำจัดหอย คนไทยจำนวนไม่น้อยอยากอาสาไปช่วย นอกจากเป็นเรื่องขำขันแล้ว ในมุมของนักวิชาการคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าการกินของคนไทยนั้นจะช่วยเก็บกวาดชายหาดนอร์เวย์ได้
เพจเฟซบุ๊ก “เรื่องแปล - ข่าวนอร์เวย์” ได้เผยแพร่ข่าวการแพร่ระบาดของหอยนางรมในนอร์เวย์ โดยปริมาณการบริโภคนั้นน้อยมากจนไม่สามารถกำจัดได้ทัน และให้ข้อมูลด้วยว่าหอยนางรมแปซิฟิกนั้นมีเปลือกที่คมเหมือนใบมีดโกน และยังระบาดจนต้องประกาศรับอาสาสมัครเพื่อช่วยทำความสะอาดชายหาดทุกปี ปีนี้ตั้งแต่เดือน มี.ค.พบหอยนางรมระบาดทางตอนใต้และตะวันตกของนอร์เวย์ และกำลังระบาดขึ้นไปทางเหนือ
ทั้งนี้ นางรมแปซิฟิกเป็นสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นตามชายฝั่งแปซิฟิกในเอเชีย ชื่อสามัญอีกชื่อเป็นที่รู้จักกันว่าหอยนางรมญี่ปุ่น แต่หอยชนิดนี้เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (introduced species) ในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อเมริกาเหนือ และยุโรป ช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมในการปล่อยไข่และสเปิร์มเพื่อผสมพันธุ์คือ 20 องศาเซลเซียส โดยตัวเมียสามารถปล่อยได้มากตั้งแต่ 50-200 ล้านฟอง ส่วนตัวอ่อนจะอยู่ในรูปแพลงก์ตอนที่ถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำ
ข่าวการระบาดของหอยนางรมแปซิฟิกในนอร์เวย์กลายเป็นหนึ่งในหัวข้อที่คนไทยร่วมวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนหนึ่งแสดงความเห็นว่าอยากอาสาไปช่วยกำจัดพร้อมกับเครื่องเคียงสำหรับรับประทานหอยนางรมสดๆ อย่างใบกระถิน น้ำพริกเผา หอมเจียว รวมถึงน้ำจิ้มซีฟู้ด ขณะที่คนไทยในนอร์เวย์บางส่วนก็แบ่งปันประสบการณ์ร่วมเก็บหอยนางรมไปบริโภค ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าการบริโภคของคนไทยนั้นจะช่วยแก้วิกฤตการระบาดของหอยนางรวมได้หรือไม่?
ในมุมของ ดร.อารมณ์ มุจรินทร์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ให้ความเห็นแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า เป็นไปได้ที่การกินของคนไทยจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ พร้อมยกตัวอย่างว่าเมื่อก่อนพบปลิงทะเลได้ทั่วไปตามชายหาดทะเลไทย แต่เมื่อมีนักท่องเที่ยวจีนและไต้หวันเข้ามาก็ได้สั่งไปบริโภค จนกระทั่งปัจจุบันเริ่มพบได้น้อย ซึ่งการจับไปบริโภคแบบประมงเกินขนาดก็ทำให้สัตว์น้ำหมดไปได้
อย่างไรก็ตาม การอาศัยคนบริโภคเพื่อจำกัดหอยนางรมในกรณีการระบาดที่นอร์เวย์นั้น ต้องใช้คนจำนวนมากพอสมควร ซึ่งการเดินทางก็มีค่าใช้จ่ายที่แพงมากอาจจะไม่คุ้มค่า ทว่า ดร.อารมณ์ก็ให้แนวคิดอื่นเป็นทางเลือก เช่น การตั้งโรงงานผลิตซอสหอยนางรมหรือผลิตหอยนางรมอัดกระป๋อง
พร้อมกันนี้ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล อพวช.ซึ่งประสบการณ์ศึกษาระยะสั้นแถบสแกนดิเนเวีย ทั้งนอร์เวย์ สวีเดน รวมถึงกรีนแลนด์ ก็ตั้งข้อสังเกตถึง พฤติกรรมการบริโภคของชาวยุโรปว่า กินอาหารที่แปลกประหลาด เช่น เนื้อสัตว์ก็กินแค่เนื้อ ไม่กินเครื่องใน หรือต้นกุ้ยช่ายที่พบได้มาก ชาวยุโรปก็ไม่บริโภค
จากประสบการณ์ตรง ดร.อารมณ์เคยจับหอยแมลงภู่ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น
ในเดนมาร์กมารับประทาน หรือเมื่อครั้งออกไปสำรวจทรัพยากรทางทะเลที่นอร์เวย์ได้จับปูขึ้นมา เพื่อนๆ ในคณะเลือกกินแค่กล้ามปู ขณะที่เธอกินปูทั้งตัวอย่างเอร็ดอร่อย ซึ่งการใช้หลักการประมงเกินขนาดคือบริโภคให้มากกว่าความสามารถในการผลิตจากท้องทะเล ก็น่าจะลดจำนวนหอยนางรมลงได้ หรืออาจทำให้สูญพันธุ์ลงได้
ดร.อารมณ์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การระบาดของหอยนางรมแปซิฟิกในนอร์เวย์ยังเป็นสิ่งบ่งชี้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อนอย่างแน่นอน เพราะสำหรับสัตว์ทะเลนั้นอุณหภูมิที่เปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อยก็มีผลต่อสัตว์น้ำค่อนข้างมาก หากอุณหภูมิเหมาะสม ความเค็มเหมาะสม ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว
ดร.อารมณ์กล่าวอีกว่า หอยนางรมอาศัยการขยายพันธุ์แบบปฏิสนธิภายนอก คือ ปล่อยไข่และสเปิร์มออกมาผสมภายนอก ซึ่งไข่เหล่านี้ก็เป็นอาหารของสัตว์น้ำอื่นๆ ด้วย จึงต้องปล่อยไข่ออกมาในปริมาณมาก โดยในจำนวนไข่ 100 ฟอง อาจเจริญเป็นตัวเต็มวัยได้เพียง 2-3 ฟอง ซึ่งการที่หอยนางรมระบาดนั้นนอกจากอาหารดี อุณหภูมิเหมาะสมแล้ว ก็แสดงว่าศัตรูตามธรรมชาติของหอยนางรมอาจจะน้อยลงด้วย
ทางด้าน รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองกรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ และอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การระบาดของหอยนางรมแปซิฟิกซึ่งควรจะอยู่ในแถบเส้นศูนย์สูตรขึ้นไปถึงเขตหนาวนั้น น่าจะมีสาเหตุจากการพาไปโดยมนุษย์จนกลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น มากกว่าจะเกิดจากการระบาดเนื่องจากการแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติของหอยเอง และสันนิษฐานว่าการระบาดน่าจะเกิดจากตัวอ่อนที่ถูกพาไปอย่างไม่ตั้งใจโดยมนุษย์ หรืออาจเป็นหอยตัวเต็มวัยที่เกาะไปกับเรือ
รศ.ดร.สุชนา ระบุว่า การบริโภคอาจจะช่วยควบคุมได้ แต่คงไม่เป็นวิธีการที่ดีเท่าไรนัก เพราะตลอด 20 ปีที่ผ่านมาที่พบกรณีเหล่านี้ ยังไม่เคยเห็นกรณีใดที่สามารถกำจัดสิ่งมีชีวิตที่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นได้เลย เพราะหากสิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการระบาดของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นก็ยากที่จะกำจัดให้หมดไป ทางที่ดีเราควรป้องกันตั้งแต่ต้น ในกรณีของนอร์เวย์นั้นชาวท้องถิ่นอาจจะต้องปรับตัวแล้วหันมาบริโภคหอยนางรมกันให้มากขึ้น
สำหรับหอยนางรมแปซิฟิกในนอร์เวย์นี้ รศ.ดร.สุชนากล่าวว่า น่าจะแฝงตัวเข้าไปในท้องถิ่นนานแล้ว อาจจะอยู่ในรูปแพลงก์ตอน แล้วค่อยๆ โตจนกระทั่งเกิดการระบาดจนเห็นได้ชัด ซึ่งการที่สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เคยมีสิ่งมีชีวิตนั้น ย่อมส่งผลต่อสภาพแวดล้อมอย่างแน่นอน โดยออสเตรเลียเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบปัญหาสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นก่อนหลายๆ ประเทศ จึงมีมาตรการห้ามนำสิ่งมีชีวิต ผัก ผลไม้ต่างๆ เข้าประเทศ
นอกจากหอยนางรมแปซิฟิกในนอร์เวย์แล้ว ยังมีปัญหาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอีกหลายชนิดทั่วโลก เช่น หอยแมลงภู่ของไทยไประบาดที่ฟลอริดา ปลาสิงโตซึ่งเป็นปลาเขตร้อนและหาได้ยากในไทย แต่กลับพบระบาดที่แคนาดาจากการหลุดรอดออกจากตู้ปลาสวยงาม หรือกุ้งขาวที่ไทยนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจก็พบว่าหลุดรอดสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่ง รศ.ดร.สุชนาระบุว่า เราต้องหาทางป้องกันดีกว่าตามแก้ไขทีหลัง
"ถ้า" - Google News
June 09, 2020 at 01:30PM
https://ift.tt/30ppeyz
ช่วยได้ไหม? ถ้าส่งคนไทยไปกำจัดหอยนางรมที่นอร์เวย์ - ผู้จัดการออนไลน์
"ถ้า" - Google News
https://ift.tt/2BjqBEF
Home To Blog
No comments:
Post a Comment